ชามและช้อน “เพิ่มความเค็ม” ลดปริมาณเกลือในอาหาร

ญี่ปุ่นคือหนึ่งในประเทศที่มีการบริโภคอาหารรสเค็มเป็นอันดับต้น ๆ โดยเฉลี่ยประชาชนชาวญี่ปุ่นจะรับประทานเกลือสูงถึง 4,200 มิลลิกรัมต่อวัน

ก่อนหน้านี้ นักวิจัยจากห้องปฏิบัติการมิยาชิตะ ณ มหาวิทยาลัยเมจิ ประเทศญี่ปุ่น ได้ประดิษฐ์ “ตะเกียบเพิ่มรสเค็ม” ช่วยให้อาหารเค็มขึ้นแม้ใส่เกลือเท่าเดิม นวัตกรรมด้านอาหารที่น่าสนใจมากเลยทีเดียว

ทว่า ตะเกียบเป็นอุปกรณ์ที่มีพื้นที่น้อย และการเพิ่มความเค็มให้อาหารจำเป็นต้องใช้กระแสไฟฟ้าเข้าช่วย ส่งผลให้อุปกรณ์จ่ายกระแสไฟฟ้าถูกออกแบบให้อยู่ในสายรัดข้อมือแทน หมายความว่า ผู้ใช้ตะเกียบจะต้องสวมสายรัดข้อมือนี้ไปด้วย จึงไม่ค่อยเท่าไรนักเมื่อนำมาใช้ในชีวิตจริง

เมนูอาหาร100เมนู

ดังนั้น นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเมจิ จึงได้พัฒนาอุปกรณ์ในรูปแบบอื่นเพิ่มเติม ได้แก่ ชามและช้อนเพิ่มความเค็ม โดยใช้หลักการแบบเดียวกับตะเกียบเพิ่มความเค็มที่ได้พัฒนาออกมาก่อนหน้านี้

ชามและช้อนเพิ่มความเค็ม จะสามารถสร้างกระแสไฟฟ้าอ่อน ๆ ได้ภายในตัว ซึ่งกระแสไฟฟ้าเหล่านี้จะถูกส่งไปยังอาหาร ทำให้ไอออนของเกลือ (โซเดียมคลอไรด์) แตกตัวได้ดี ต่อมรับรสบนลิ้นจะรับรสความเค็มได้ดีขึ้นกว่าเดิมถึง 1.5 เท่า

นั่นหมายความว่า หากคุณเติมเกลือในอาหารปริมาณเท่าเดิม คุณจะได้รับรสชาติที่เค็มมากขึ้นกว่าเดิม ทำให้คุณต้องเติมเกลือ “ลดลง” เพื่อให้ได้ความเค็มของอาหาร “เท่าเดิม”

จุดเด่นของชามและช้อนเพิ่มความเค็ม คือ อุปกรณ์เหล่านี้มีขนาดใหญ่ สามารถใส่แบตเตอรี่ลงไปได้ (ชามจะใส่ไว้ที่ด้านหลังบริเวณก้นชาม ส่วนช้อนจะใส่ไว้บริเวณด้ามจับ) โดยไม่ต้องติดตั้งแบตเตอรี่ออกมาภายนอกเหมือนตะเกียบ อีกทั้งยังครอบคลุมพื้นที่ของอาหารที่รับประทานได้มากกว่าการใช้ตะเกียบเพียงอย่างเดียว

มหาวิทยาลัยเมจิได้ร่วมกับบริษัทคิริน (Kirin) เพื่อผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้ชื่อภาษาญี่ปุ่นว่า “อิเล็กคิโซรุโตะ” (Erekisoruto) ส่วนชื่อภาษาอังกฤษนั้นอาจเป็น “อิเล็กซอลต์” (Elecsalt หรือเขียนให้ดูน่าสนใจมากขึ้นเป็น Elexolt) คาดว่าจะสามารถจัดจำหน่ายได้ภายในปีหน้า